งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร
กำหนดการจัดงาน : 13 - 15 พฤษภาคม 2554
สถานที่ : ณ บริเวณสวนสาธารณะพญาแถน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ขอเชิญทุกท่านเที่ยวงานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร ในวันที่ 13 - 15 พฤษภาคม 2554 ณ บริเวณสวนสาธารณะพญาแถน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เพื่อเป็นการร่วมกันสืบสานประเพณีพื้นบ้านของชาวอีสาน
ภายในงาน พบกับกิจกรรมต่างๆ มากมาย ได้แก่
วันที่ 13 พฤษภาคม 2554 ชมการประกวดกองเชียร์
วันที่ 14 พฤษภาคม 2554 ชมกาประกวดขบวนรำเซิ้ง และบั้งไฟ ที่สวยงามตระการตา
วันที่ 15 พฤษภาคม 2554 ชมการจุดบั้งไฟ ณ ฐานจุดบั้งไฟ สวนสาธารณะพญาแถน
งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร หรือเรียกอีกอย่างว่าประเพณีบุญเดือนหก ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเชื่อทางศาสนาในเรื่องการขอฝนจากพญาแถน ด้วยการทำบั้งไฟจุดขึ้นไปบนฟากฟ้า ซึ่งพญาแถน ได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งฝน เพื่อขอให้พญาแถนได้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ช่วยให้สรรพสิ่งบนผืนโลกได้ดำเนินวิถีชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะผู้คนบนผืนดินอีสาน ที่มีอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ทำนาหล่อเลี้ยงชีวิต น้ำฝนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยในช่วงก่อนการทำนา ชาวอีสานจะจัดขึ้นประเพณีนี้ขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยจะกำหนดให้เป็นวันสุดสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน และมีการจัดต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านาน
งานวันแรกจะมีคณะบั้งไฟทั้งหลาย แห่ขบวนเซิ้งขอรับบริจาคเงินซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งของจำเป็นในการร่วมทำบุญ สำหรับวันที่สอง จะมีขบวนแห่บั้งไฟ และขบวนฟ้อนรำ โดยจะมีการแข่งขันการตกแต่งบั้งไฟและการจัดขบวนที่สวยงาม รวมทั้งการแข่งขันท่าฟ้อนรำในจังหวะต่างๆ ด้วย ส่วนวันที่สาม จะเป็นวันจุดบั้งไฟ โดยมีการแข่งขันการขึ้นสูงของบั้งไฟ และการลอยอยู่ในอากาศได้นานที่สุด
พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ชาวอีสานได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ตามตำนานที่เล่าขานกันมาว่า เมื่อครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถน เทพเจ้าแห่งฝน โกรธเคืองโลกมนุษย์ จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานเป็นเวลาถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ทั้งมวลมนุษย์ พืช และ สัตว์ จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่รอดตายก็ได้มารวมกลุ่มอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ในที่นั้นให้ตกลงให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้น จึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบ แต่ก็พ่ายแพ้กลับมาอีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย ในที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายทำหน้าที่ก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถนได้ ซึ่งมีมอด แมลงป่อง และตะขาบ ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าไพร่พลพญาแถนเพื่อทำหน้าที่กัด ต่อย
หลังจากที่วางแผนเรียบร้อยแล้วนั้น กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้
1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
3. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนถึงบัดนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น