วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง

เขาชะเมา-เขาวง (Khao Chamao - Khao Wong)


ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง
ตู้ ปณ. 11 อ. แกลง จ. ระยอง 21110
โทรศัพท์ : 0 3802 0510 (VoIP), 0 3889 4378 โทรสาร : 0 3889 4378

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายสุเมธ สายทอง


อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่ อำเภอแกลง กิ่งอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกของประเทศ มีสภาพป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารของจังหวัดระยอง มีสัตว์ป่าชุกชุม และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก หน้าผา ถ้ำ ทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่งดงาม อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง มีเนื้อที่ประมาณ 52,300 ไร่ หรือ 83.68 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา : ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2517 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2517 ที่ประชุมได้มอบให้กรมป่าไม้ไปดำเนินการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของป่าเขาชะเมา-เขาวง ท้องที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เลขาธิการนิยมไพรสมาคม ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2517 กับชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ปทุมวัน ได้มีหนังสือ ที่ ชอธ. 020/2517 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2517 ขอให้พิจารณาจัดตั้งบริเวณพื้นที่ป่าเขาชะเมา ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารของจังหวัดระยอง ประกอบด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ให้เป็นอุทยานแห่งชาติเช่นกัน ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2517 ได้ตีพิมพ์บทความ “ เสียงเรียกจากป่าเขาชะเมา ” เขียนโดย นายไพบูลย์ สุขสุเมฆ เรียกร้องให้พิจารณากำหนดป่าเขาชะเมา-เขาวง ให้เป็นวนอุทยานหรืออุทยานแห่งชาติเพื่อรักษาไว้ก่อนที่จะถูกบุกรุกทำลาย

กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่ง ที่ 1017/2517 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2517 ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการสำรวจแนวเขตป่าและสภาพพื้นที่ป่าเขาชะเมา-เขาวง ในท้องที่จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี ปรากฏว่ามีสภาพเป็นป่าดงดิบเป็นต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่าชุกชุมและธรรมชาติที่สวยงาม กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในการประชุม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2518 ซึ่งมีมติให้กำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาชะเมาในท้องที่ตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และตำบลแก่งหางแมว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และป่าเขาวงในท้องที่ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และตำบลนายายอาม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 267 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2518 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 13 ของประเทศไทย

ขนาดพื้นที่
52300.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ชม.1 (คลองพลู)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่ีงชาติที่ ชม.2 (น้ำกร่อย)

ภาพแผนที่


ลักษณะภูมิประเทศ 
บริเวณเขาชะเมาส่วนใหญ่ประกอบด้วยเทือกเขาสูงชัน เป็นสันเขา (Ridgetops) มีความลาดเทปานกลาง และพื้นที่ไหล่เขาค่อนข้างชัน มียอดเขาสูงสุด คือ ยอดเขาแผนที่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,024 เมตร และจุดต่ำสุดสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 51 เมตร ส่วนลักษณะภูมิประเทศบริเวณเขาวงเป็นแบบ Karst Topography เป็นลักษณะเขาลูกโดดหรือมียอดเขาหลายยอด เกิดจากการละลายตัวของหินปูน มีลักษณะแอ่งหินปูน หลุมยุบ และถ้ำ มียอดเขาสูงสุด อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 162 เมตร และจุดต่ำสุด สูงจากระดับน้ำทะเล 96 เมตร

ลักษณะภูมิอากาศ
อากาศในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ในตอนเช้ามีหมอกลงบ้างเป็นบางส่วนในพื้นที่ อากาศในตอนเช้าค่อนข้างหนาวและคาดว่าน่าจะหนาวขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงตอนกลางวันมีลมพัดเย็นตลอดทั้งวัน


พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
1. สภาพป่า พื้นที่บริเวณเขตเขาชะเมาส่วนใหญ่เป็นสังคมของป่าดิบชื้นมีพื้นที่ 54.47 ตารางกิโลเมตร สังคมป่าดิบเขามีพื้นที่ 7 ตารางกิโลเมตร สังคมป่าดิบแล้งมีพื้นที่ 5.61 ตารางกิโลเมตร ส่วนบริเวณพื้นที่ป่าเขาวง ส่วนใหญ่เป็นสังคมของพื้นที่ป่าดิบชื้นโดยมีพื้นที่ 2.62 ตารางกิโลเมตร รองลงมาคือสังคมป่าเขาหินปูน มีพื้นที่ 1.42 ตารางกิโลเมตร และพบป่าดิบแล้ง เป็นพื้นที่ 0.36 ตารางกิโลเมตร
1.1 จำนวนชนิดพันธุ์ในการวางแปลงตัวอย่างในป่าดิบชื้น มี 53 และ 55 ชนิด
1.2 จำนวนชนิดพันธุ์ในการวางแปลงตัวอย่างในป่าดิบเขา มี 51 ชนิด
1.3 จำนวนชนิดพันธุ์ในการวางแปลงตัวอย่างในป่าดิบแล้ง มี 34 ชนิด
1.4 จำนวนชนิดพันธุ์ในการวางแปลงตัวอย่างในป่าเขาหินปูน มี 19 ชนิด
2. สัตว์ป่า
จากการศึกษาและสำรวจข้อมูลด้านสัตว์ป่าในพื้นที่พบว่ามีจำนวนของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 137 ชนิด จาก 113 สกุล ใน 70 วงศ์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
2.1 สัตว์ป่าสะเทินน้ำสะเทินบก มีไม่น้อยกว่า 10 ชนิด จาก 5 สกุล ใน 4 วงศ์
2.2 สัตว์เลื้อยคลานมีไม่น้อยกว่า 24 ชนิด จาก 20 สกุล ใน 12 วงศ์
2.3 นก มีไม่น้อยกว่า 68 ชนิด จาก 58 สกุล ใน 32 วงศ์
2.4 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีมากกว่า 35 ชนิด โดยมีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์รวมอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ช้าง วัวแดง และเสือโคร่ง


การเดินทาง
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ออกจากกรุงเทพฯ ผ่านเส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แยกซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 344 (บ้านบึง-แกลง) เมื่อถึง อ. แกลง เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ประมาณ 7 กม. จะถึงบ้านเขาดินแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3377 อีก 17 กม. ถึงหมู่บ้านน้ำใส จากนั้นเลี้ยวขวาไปอีก 1 กม. ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง

แผนที่เส้นทาง



เส้นทางไปอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง

ภาพทิวทัศน์






แผนที่ผังบริเวณ
ผังปัจจุบันที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง

ผังบริเวณคลองปลาก้าง อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง

สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์
- ที่พัก ค่ายเยาวชน เต้นท์
ที่พัก - บ้านพัก ค่ายเยาวชน เต้นท์


สถานที่ท่องเที่ยว
น้ำตกเขาชะเมา
น้ำตกคลองปลาก้าง

วิดีโอ


อุทยานแห่งชาติปางสีดา

ปางสีดา (Pang Sida)



ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติปางสีดา
ตู้ ปณ. 55 ตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว 27000
โทรศัพท์ 0 3755 6500 , 0 3724 3775 โทรสาร 0 3724 3774

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา : นายชาตรี ผดุงพงษ์

อุทยานแห่งชาติปางสีดา มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า มีสภาพธรรมชาติและเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน น้ำตกแควมะค่า จุดชมวิว โขดหินตามลำน้ำที่มีลักษณะแปลกๆ มีเนื้อที่ประมาณ 527,500 ไร่ หรือ 844 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมาของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เดิมบริเวณน้ำตกปางสีดา เป็นหน่วยงานหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะจัดบริเวณน้ำตกปางสีดา ให้เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการรักษาพื้นที่ต้นน้ำลำธารและสภาพป่าธรรมชาติ ดังนั้น กรมป่าไม้จึงได้จัดตั้งให้เป็นวนอุทยานแห่งชาติ ชื่อว่า วนอุทยานปางสีดา เมื่อปี พ.ศ. 2521 ต่อมา กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้ทำรายงานสำรวจเบื้องต้น กำหนดให้ป่าน้ำตกปางสีดาและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดิน ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ ป่าเขาสะโตน และป่าท่ากระบาก ในท้องที่ ต.แก่งดินสอ อ.นาดี ต.บ้านแก้ง ต.ท่าแยก ต.โคกปี่ฆ้อง อ.สระแก้ว ต.หนองน้ำใส ต.ช่องกุ่ม ต.แซร์ออ อ.วัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรีให้เป็นอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 24 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525 เป็นอุทยาน ฯ แห่งที่ 41 ของประเทศไทย

ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติปางสีดา ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง อ.วัฒนานคร อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และ อ.นาดี จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทือกเขาพนมดงรัก คลอบคลุมพื้นที่ 527,500 ไร่ หรือประมาณ 844 ตารางกิโลเมตร มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า และทิวทัศน์ที่สวยงาม สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีพืชพรรณไม้หลายชนิด ประกอบไปด้วย ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง และป่าทุ่งหญ้า เหมาะสมที่จะรักษาไว้เพื่อการศึกษาวิจัยในด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ด้านการท่องเที่ยว จุดเด่นที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน กลุ่มน้ำตกแควมะค่า กลุ่มน้ำตกถ้ำค้างคาว ภูเขาเจดีย์ ฟอสซิลไดโนเสาร์ แหล่งดูนกน้ำอ่างเก็บน้ำพระปรง แหล่งดูผีเสื้อ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งดูผีเสื้อแห่งภาคตะวันออก การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติปางสีดา จากสถานีขนส่ง จังหวัดสระแก้ว ถึงที่ทำการอุทยาน ฯ ระยะทางประมาณ 27 กม. ปัจจุบันได้รวมผืนป่า 5 ผืนป่า ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปางสีดา ทับลาน ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 3.8 ล้านไร่ เรียกว่า “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” และได้ประกาศเป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 2 ของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548

ขนาดพื้นที่
527500.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.1 (แก่งยายมาก)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.2 (คลองหมากนัด)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.3 (โคกสัมพันธ์)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.4 (ด่านตรวจ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.5 (ห้วยน้ำเย็น)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.6 (ช่องกล่ำบน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.7 (คลองเกลือ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.8 (พระปรง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.9 (เขห้วยชัน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.10 (วังครก)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.11 (เขาทะลาย)


ภาพแผนที่


ลักษณะภูมิประเทศ 
ลักษณะภูมิประเทศอุทยานแห่งชาติปางสีดาตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทือกเขาพนมดงรัก สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำของลำห้วยหลายสายที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำบางปะกง โดยลักษณะของพื้นที่จะมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ เมื่อฝนตกหนักปริมาณน้ำฝนจากเทือกเขาไหลลงสู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความลาดชันค่อนข้างสูง


ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติปางสีดาเป็นแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน (Savanna Climate) ซึ่งในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีอากาศชุ่มชื้นและฝนตกตลอดฤดูแต่ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวนั้นจะมีอากาศแห้งแล้ง ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวทั่วไปโดยเฉพาะในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากในรอบปี ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทย อากาศจะเริ่มชุ่มชื้นและมีฝนตกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและแห้งแล้ง แต่เนื่องจากได้รับกระแสลมจากทะเลทำให้ไม่หนาวจัดมาก

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
พันธุ์พืช และทรัพยากรป่าไม้ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติปางสีดาครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 500,320.22 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 94.79 ของพื้นที่อุทยานฯสามารถจำแนกสังคมพืชออกได้ประเภทต่าง ๆได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่ารุ่นสอง/ไร่ร้าง และป่าไผ่ โดยสามารถสรุปผล
ได้ดังนี้

ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest) ป่าดิบชื้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ อยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ 400 -1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดของอุทยานฯ คือ 302,123.88 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 57.24 ของพื้นที่ป่าไม้ พรรณไม้คล้ายคลึงกับป่าดิบแล้ง แต่มีพืชวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) ชนิดต่างๆ ขึ้นมากกว่า คือ ยางกล่อง (Dipterocapus dyeri) ยางขน(Dipterocapus buadii) ยางเสียน(Dipterocapus gracilis) และกระบาก(Anisoptera costata) ตามหุบห้วยมีไม้ตุ้มแต๋น หรือลำพูป่า (Duabanga grandiflora) และกระทุ่ม(Anthocephalus Chinensis) ขึ้นอยู่ทั่วไป บริเวณลำธารมักจะมีไผ่ลำมะลอก(Dendrocalamus longispathus) ในพื้นที่ค่อนข้างสูงนั้น ยางกล่อง(Diptarocapus dyeri) ยางขน(Dipterocapus buadii) กระบาก(Anisoptera costata) จะไม่มีปรากฏอยู่แต่จะมียางดง (Dipterocapus macrocapus) และยางเข้ามาแทนที่ นอกจากนี้มีไม้ เคี่ยมคะนอง (Shorea henryana) กระตุก มะมือ (Chorospondias axillaris) จำปีป่า (Paramichellia baillonii) พะอง(Calophyllum polyamthum) และทะโล้(Schima walllichii) ไม้ชั้นรองเป็นพวกก่อชนิดต่างๆ เช่น ก่อน้ำ(Lithocapus annamensis) ก่อรัก(Quercus semiserrata) ก่อด่าง(Quercus myrsinifolia) และก่อเดือย(Castanopsis acuminatissima) ขึ้นปะปนกับ ขี้ขม(Ligustrum confusum)

ส่วนไม้พุ่มมีหลายชนิดได้แก่ ส้มกุ้ง(Embelia ribes) ข้าวสารหลวง(Measa ramentacea) ชะโอน(Viburnum punctuatum) สะพ้านก้าน(Sambucus javanica) เขาความไม้ว้อง(Uncaria homomalla) สะบ้า(Entada phaseoloides) และ คานหามเสือ(Aralia armata) เป็นต้น
บริเวณริมธารจะพบพวกต้นกูด เช่น มหาสะดำ(Cyathea borneensis) และกูดพร้าว(Latebrosa copel) ขึ้นปะปนกับ ละอองฟ้า(Pseudodrynaria coronans) ส่วนกล้วยไม้ที่พบขึ้นทั่วไป เช่น เอื้องกุหลาบพวง(Aerides falcatum) และเอื้องปากเป็ด(Cymbidium simulans)

ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) ป่าดิบแล้งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ค่อนข้างราบในบริเวณทิศตะวันออกของอุทยาน ฯ ที่สูงระดับความสูงตั้งแต่ 100-400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่มากเป็นอันดับสองของอุทยานฯคือ 154,452.80 ไร่ หรือร้อยละ 29.26 ของพื้นที่ทั้งหมด พรรณไม้ที่สำคัญพบทั่วไปคือ ยางนา(Dipterocarpus alatus) ยางแดง(Dipterocarpusturbinnatus) เคี่ยมคะนอง(Shorea henryana) พะยอม(Shorea roxburgii) ตะเคียนทอง(Hopea odorata) ตะเตียนหิน(Hopea Ferrea) ตะแบกใหญ่(Legerstroemiacalyculata) มะค่าโมง(Afzelia xylocarpa) สมพง(Tetrameles nudiflora) และซาก(Erythrophloeumsuccirubrum)พลองขี้นก(Memecylon floribundum) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปาล์มต้นสูงสองชนิด คือ หมากนางลิง(Areca Triandra) และลาน(Coryha lecomtei) ขึ้นกระจายทั่วไป พืชพรรณชั้นล่างเป็นไม้วงศ์ Marantadeae สกุล Phrynium และ Cucurlico วงศ์กระเจียว(Zingiberceae) สกุล Achasma สกุล Curcuma, Amomum, catimbium และ Ctenolopon ซึ่งขึ้นปะปนกับกล้วยไม้ป่า (Musa acuminata) และเตย(Pandanus)

ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ป่าเบญจพรรณกระจายอยู่ในพื้นที่บริเวณทางทิศใต้ของอุทยานฯครอบคลุมพื้นที่มากเป็นอันดับสามของอุทยานฯคือ 32,146.89 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.09 ของพื้นที่ป่าไม้ พรรณไม้ที่สำคัญพบทั่วไป คือ มะค่าโมง(Afzelia xylocarpa) ประดู่(Pterocarpus macrocarpus) ตะแบกใหญ่(Legerstroemiacalyculata) ปออี้เก้ง(Pterocymbium javanicum) ซ้อ(Gmelia arborea) กว้าว(Adina pinata) และตะเคียนหนู(Anogeissus acuminata) ส่วนพืชชั้นล่าง ประกอบด้วย ไผ่ป่า(Bambusa arundinacea) และหญ้าชนิดต่างๆ

ป่าไผ่ (Bamboo Forest) ป่าไผ่กระจายอยู่บริเวณตอนกลางด้านลางของอุทยานฯมีพื้นที่ครอบคลุม4,419.55 ไร่ หรือประมาณ0.84 ของพื้นที่ป่าไม้ ส่วนใหญ่เป็นไผ่ป่า(Bambusa arundinacea)
ป่าไม้รุ่นสอง/ไร่ร้าง (Secondary Forest and Old clearing) ทุ้งหญ้า ไม้พุ่มและไม้ละเมาะ(Grass and Shrubus land)เกิดจากการทดแทนของสังคมพืชของพื้นที่ๆถูกบุกรุกแผ้วถางแล้วละทิ้งพื้นที่ไป ที่บริเวณด้านใต้ของพื้นที่อุทยานฯเป็นแนวขนานกับแนวเขตอุทยานฯ รวมพื้นที่ประมาณ 7,177.11 ไร่ และ 5,745.93 ไร่ ตามลำดับลักษณะการเกิดทุ่งหญ้าและป่ารุ่นสอง(Grassland and Secondary forest) นี้มีสาเหตุเช่นเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือเกิดเนื่องจากการทำไร้เลื่อนลอยในอดีต ก่อนที่จะมีการจัดตั้งอุทยานฯเมื่อมีการอพยพราษฎรลงไปสู่ที่ราบ บริเวณดังกล่าวถูกปล่อยทิ้ง ต่อมามีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคา(Imperata cylindrica) เสียส่วนใหญ่ ทุ่งหญ้าเหล่านี้มักถูกไฟไหม้เป็นประจำ ส่วนทุ่งหญ้าบางที่เมื่อมีการป้องกันไฟมิให้ลามเข้ามาไหม้ สภาพทุ่งหญ้าก็จะเปลี่ยนสภาพมาเป็นป่าละเมาะหรือป่ารุ่นที่สอง ซึ่งมักพบพรรณไม้เบิกนำ(pioneer species) หลายๆชนิด จำนวนชั้นเรือนยอดของป่ารุ่นที่สองสามารถจำแนกได้สองชั้นเรือนยอด คือ เรือนยอดชั้นบน สูงประมาณ 8-15 เมตร พรรณไม้สำคัญที่พบคือ ตะแบกกราย(Terminalia pierrei) ติ้วเกลี้ยง พลับพลา เขลง โมกมัน และแคหางค่าง(Fernando adenophylla) โดยมีค่าดัชนีความสำคัญเท่ากับ 77.23, 43.10, 41.95, 35.38,14.28 และ 5.42 ตามลำดับ ส่วนเรือนยอดชั้นไม้พุ่ม มีความสูงไม่เกิน 8 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ กล้วยน้อย(Xylopia vielana) อีแปะ(Vitex quinata) คำรอก(Ellipanthus tometosus) เปล้าหลวง บูตูบูแว(Gonocaryum lobbianum) และหมีเหม็น

ทรัพยากรสัตว์ป่าสัตว์ป่าที่อยู่อาศัยในบริเวณอุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว และปราจีนบุรี ซึ่งมีการศึกษาชนิดความชุกชุม ตลอดจนชีววิทยาบางประการของสัตว์ป่าที่มีกระดูกสันหลัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มคือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลาน้ำจืด โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 278 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 81 ชนิด จาก 58 สกุลใน 20 วงศ์ นก 143 ชนิด จาก 107 สกุล ใน 38 วงศ์ จัดเป็นนกประจำถิ่น(Resident bird) 131 ชนิด และนกอพยพย้ายถิ่น (Winter visitor) จำนวน 12 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 19 ชนิด จาก 17 สกุลใน 5 วงศ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 16 ชนิด จาก 7 สกุล ใน 3 วงศ์ และปลาน้ำจืด 19 ชนิด จาก 17 สกุลใน 10 วงศ์(กรมป่าไม้,2543) และจากการสำรวจในฤดูหนาวพบสัตว์ป่าทั้งหมด 267 ชนิด ประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 41 ชนิด นก 188 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด โดยสัตว์ป่าทั้งหมดจำนวน 267 ชนิด ส่วนใหญ่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (224 ชนิด) สัตว์ป่าที่พบตามสถานภาพของ สผ. และ IUCN มีประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง(Critically endangered) 1 ชนิด คือ จระเข้น้ำจืด(Crocodylus Siamensis) ส่วนประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์(Endangered)4 ชนิด ได้แก่ช้างป่า(Elephas maximus) นกกระสานวล(Ardea cinerea) นกกระสาแดง(Ardea purpurea) และเต่าเหลือง(Indotestudo elongata) ส่วนประเภทที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ ลิงกัง(Mecaca nemestrina) ชะนีมือขาว(Hylobates lar) หมาใน(Cuon alpinus) หมีหมาหรือหมีคน(Ursus malayanus) หมีควาย(Ursus thibetanus) เสือดาว(Panthera pardus) กระทิงหรือเมย(Bos gaurus) เม่นใหญ่(Hystrix brachyura) ตะพาบน้ำ(Amyda cartilaginea) และเต่านา(Malayemys subtrijuga)
สำหรับทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำรวจพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา เป็นสัตว์ป่าที่สามารถพบได้ทั่วไปพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ยกเว้นจระเข้น้ำจืด ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีสถานภาพจัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่มีสถานภาพจัดอยู่ในประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นพื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดามีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะแหล่งอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดบริเวณแก่งยายมาก ซึ่งคาดว่าจะมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย สำหรับปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ได้แก่ การที่ชาวบ้านปล่อยสัตว์เลี้ยงให้หากินบริเวณใกล้เคียงพื้นที่อุทยานฯ โดยสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจเข้ามาแย่งพื้นที่และขับไล่สัตว์ป่าชนิดอื่นๆในพื้นที่อุทยานฯ ได้ ปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ป่าหรือหาของป่า ซึ่งเป็นการรบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานฯการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำจากกิจกรรมนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาการวางไข่ในน้ำของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในพื้นที่อุทยานฯ

การเดินทาง
การเดินทางโดยรถยนต์
1. จากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ระยะทาง 256 กิโลเมตร จากอำเภอเมือง โดยสารรถประจำทางไปตามทางหลวงหมายเลข 3462 สายสระแก้ว - บ้านคลองน้ำเขียว ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติปางสีดา

เดินทางโดยรถไฟ
2. สายตะวันออก กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ เที่ยวแรกออกเวลา 06.00 น. เที่ยวสองออก 13.00 น. ถึงสถานีรถไฟสระแก้ว แล้วนั่งรถโดยสารจากอำเภอสระแก้วถึงที่ทำการอุทยานฯ ดังข้างบน

แผนที่เส้นทาง

แผนที่เส้นทางอุทยานแห่งชาติปางสีดา 


การเดินทาง
โดยรถยนต์
1. จากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ระยะทาง 256 กิโลเมตร จากอำเภอเมือง โดยสารรถประจำทางไปตามทางหลวงหมายเลข 3462 สายสระแก้ว - บ้านคลองน้ำเขียว ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติปางสีดา

เดินทางโดยรถไฟ
2. สายตะวันออก กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ เที่ยวแรกออกเวลา 06.00 น. เที่ยวสองออก 13.00 น. ถึงสถานีรถไฟสระแก้ว แล้วนั่งรถโดยสารจากอำเภอสระแก้วถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติปางสีดา ดังข้างบน

ภาพทิวทัศน์





แผนที่ผังบริเวณ


ผังที่ทำการอุทยานแห่งชาติปางสีดา


แผนที่แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติปางสีดา

สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์
- ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
- บริเวณกางเต็นท์
- ร้านค้าสวัสดิการ
- บ้านพักรับรอง
- บริเวณลานกางเต็นท์
ร้านอาหาร - ร้านค้าสวัสดิการ
อื่นๆ - ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยว
น้ำตกปางสีดา
น้ำตกผาตะเคียน
น้ำตกถ้ำค้างคาว
น้ำตกทับเทวา
จุดชมวิว
ลานหินดาด
กิจกรรมดูผีเสื้อ
กิจกรรมดูนก
กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
บริเวณกางเต็นท์
น้ำตกแควมะค่า

วิดีโอ

อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ


ทองผาภูมิ (Thong Pha Phum)




ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
ตู้ ปณ.18 อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี 71180
โทรศัพท์ : 0 1382 0359

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายทัศนัย เปิ้นสมุทร

ด้วยสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องแผนการป้องกันอนุรักษ์และพัฒนาป่าอนุรักษ์ภาคตะวันตก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมป่าไม้ เสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพัฒนา พิจารณาเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2534 คณะกรรมการการกลั่นกรองฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เสนอความเห็นชอบ การคุ้มครองพื้นที่เขตแดนพม่าให้เป็นป่าผืนใหญ่ผืนเดียวกัน เพื่ออนุรักษ์ให้เป็นระบบนิเวศที่มั่นคงและเป็นแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมพืชและสัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศตลอดไป ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2534 ลงมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ โดยกรมป่าไม้ได้ดำเนินการตามแผนการป้องกันอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้อนุรักษ์ภาคตะวันตก ในรูปแบบอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยเขย่งและป่าเขาช้างเผือก ในเขตท้องที่อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 700,000 ไร่ หรือ 1,120 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือจดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทิศใต้จดอุทยานแห่งชาติไทรโยค ทิศตะวันออกจดอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ทิศตะวันตกจดเขตแดนไทย-พม่า ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้

ขนาดพื้นที่
772214.25 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ทภ.2 (ไม้ยักษ์)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ทภ.3 (โป่งพุร้อน)
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ทภ.4 (ผาอ้น)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ทภ.5 (บ้านไร่)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ทภ.6 (โป่งช้าง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ทภ.7 (เวียคะดี้)


ภาพแผนที่



ลักษณะภูมิประเทศ 
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน แนวเขาวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี มีพื้นที่ราบลุ่มเป็นจำนวนน้อย ความสูงของพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,249 เมตร มีเขาช้างเผือกซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่เป็นยอดเขาสูงสุด สูง 1,249 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาที่สำคัญ ได้แก่ เขาช้างเผือก เขานิซา เขาพุถ่อง เขาด่าง เขาปาก ประตู เขาเลาะโล เขาประหนองโทคี เขาชะโลง ฯลฯ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยต่างๆ เช่น ห้วยมาลัย ห้วยกบ ห้วยซ่าน ห้วยองค์พระ ห้วยปีคี ห้วยปากคอก ห้วยเจ็ดมิตร ฯลฯ โดยไหลลงสู่ที่ราบทิศตะวันออก ลงสู่เขื่อนเขาแหลม และลำน้ำอีกส่วนไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อย


ลักษณะภูมิอากาศ
เป็นแบบมรสุมเมืองร้อน จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม


พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่คงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ สามารถจำแนกประเภทแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
1) ป่าดิบชื้น มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะเคียน ยางขาว ยางยูง ไก่เขียว เคี่ยม กันเกรา จำปาป่า มะหาด เนียง พืชพื้นล่างมีพวก หวาย เฟิน เตย และปาล์ม

2) ป่าดิบแล้ง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ยางขาว ยางแดง ตะเคียน ยมหอม จำปีป่า กระบาก มะม่วงป่า มะแฟน แดงดง มะไฟป่า สมพง พืชพื้นล่างมีพวก ปาล์ม ข่า และเฟินต่างๆ ฯลฯ

3) ป่าดิบเขา มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อชนิดต่างๆ กำลังเสือโคร่ง มณฑาป่า พระเจ้าห้าพระองค์ กำยาน อบเชย ทะโล้ พืชพื้นล่างได้แก่ มอส เฟินต่างๆ

4) ป่าเบญจพรรณ พบมากที่สุด มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก เสลา ส้าน มะค่าโมง อินทนิล ตุ้มเต๋น ตะคร้อ ตะคร่ำ กระพี้เขาควาย ขะเจ๊าะ มะเกลือ กาสามปีก สมอพิเภก กระบก มะกอก พืชพื้นล่างมีพวก ไผ่ไร่ ไผ่ซาง ไผ่บง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่รวก และพืชพวกไม้หนาม เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก เนื่องจากป่าเป็นผืนเดียวกันกับประเทศพม่า จึงมีการย้ายถิ่นฐานไปมาอยู่เป็นประจำ และเนื่องจากไม่มีราษฎรอยู่ในพื้นที่ป่ามากนักจึงทำให้สัตว์ป่าไม่ถูกรบกวน ที่พบเห็นเป็นประจำได้แก่ ช้างป่า เลียงผา กวาง เก้ง กระจง หมูป่า หมี ลิง ค่าง บ่าง ชะนี อีเห็น ชะมด เสือปลา เสือลายเมฆ เสือโคร่ง หมีคน หมีควาย กระรอกบิน กระแต หนูหริ่ง พังพอน ค้างคาว กระต่ายป่า แมวป่า หมาไน เม่น นกเงือก นกนางแอ่น เหยี่ยว นกกระสา นกอินทรีย์ นกฮูก นกปรอด นกแขวก นกเค้าแมว นกแสก นกกระปูด นกเอี้ยง นกกางเขน นกขมิ้น นกกระทาดง นกกวัก นกขุนทอง นกแซงแซว นกหัวขวาน นกดุเหว่า อีกา ไก่ป่า ตะกวด ตุ๊กแกป่า กิ้งก่าบิน จิ้งเหลน แย้ ตะขาบ แมงป่อง กิ้งกือ ทาก ปลิง ตะพาบน้ำ กบ เขียด คางคก อึ่งอ่าง ปลาเวียน ปลาซิว ปลาก้าง ปลาช่อน ปลาไหล ปลากระทิง ปลาตะเพียน ปลาหมอ ปลาแขยง และปลาชะโด เป็นต้น

การเดินทาง
1. โดยรถยนต์ส่วนตัวออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงตัวเมืองกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร จากตัวเมืองกาญจนบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 สายกาญจนบุรี – ทองผาภูมิ ถึงตลาดอำเภอทองผาภูมิระยะทางประมาณ 141 กิโลเมตร จากตัวอำเภอทองผาภูมิ ใช้เส้นทางหมายเลข 3272 สายทองผาภูมิ – บ้านไร่-ปิล๊อก ถึงสามแยกบ้านไร่เลี้ยวซ้ายไปตาม เส้นทางคดเคี้ยวบนเขา ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิซึ่งจะตั้งอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 21 - 22 เป็นเส้นทางลาดยางตลอดสาย
2. โดยรถยนต์โดยสารประจำทาง
ขึ้นรถจากสถานีขนส่งสายใต้ลงที่สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรีและต่อรถประจำทางสายกาญจนบุรี – ทองผาภูมิ ลงที่ตลาดอำเภอทองผาภูมิ จากนั้นต่อรถประจำทางสายทองผาภูมิ – บ้านอีต่อง
ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

แผนที่เส้นทาง

เส้นทางไปอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ


ภาพทิวทัศน์


จุดชมทะเลหมอก



เขาช้างเผือก



น้ำตกจ๊อกกระดิ่น



ดอยต่องปะเล

แผนที่ผังบริเวณ



ผังปัจจุบันที่ทำการอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ


ผังปัจจุบันบริเวณลานกางเต็นท์อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

สถานที่ท่องเที่ยว
น้ำตกจ๊อกกระดิ่น
ดอยต่องปะแล
น้ำตกสัตตมิตร

วิดีโอ


อุทยานแห่งชาติเอราวัณ


เอราวัณ (Erawan)






ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติเอราวัณ
หมู่ 4 ต.ท่ากระดาน อ. ศรีสวัสดิ์ จ. กาญจนบุรี 71250
โทรศัพท์ : 0 3457 4222, 0 3457 4234, 08 1914 8791 โทรสาร : 0 3457 4288

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายกมล นวลใย

สมัย พณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติการประชุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กระทรวงเกษตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน) ดำเนินการจัดตั้งป่าเทือกเขาสลอบท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2504-2515 โดยใช้บริเวณน้ำตกเอราวัณเป็นศูนย์กลางการสำรวจ พบว่า บริเวณป่าเทือกเขาสลอบ จังหวัดกาญจนบุรี มีธรรมชาติที่สวยงามเป็นพิเศษ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตหวงห้ามที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รักษาการณ์ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กรมป่าไม้จึงมีรายงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ขอเพิกถอนพื้นที่เขตหวงห้ามที่ดินบางส่วนที่เป็นป่าเทือกเขาสลอบ เพื่อเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติได้ โดยมีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนที่ดินหวงห้ามดังกล่าวลงประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที 19 มิถุนายน 2518 และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาสลอบ ในท้องที่ตำบลไทรโยค ตำบลท่าเสา ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค ตำบลหนองเป็ด ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ และตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2518 และให้ใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติเอราวัณ" ตามความนิยมและคุ้นเคยของประชาชนที่รู้จักน้ำตกเอราวัณเป็นอย่างดี โดยมีเนื้อที่ประมาณ 549.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 343,735 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 12 ของประเทศ

ขนาดพื้นที่
343735.00 ไร่


หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.1 (ถ้ำพระธาตุ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.2 (ปลายดินสอ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.3 (วังบาดาล)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.4 (ทับศิลา)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.5 (ผาลั่น)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.6 (มะตูม)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.7 (หนองบอน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.8 (ลำต้น)

ภาพแผนที่




ลักษณะภูมิประเทศ 
อุทยานแห่งชาติเอราวัณ มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงชันอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 165-996 เมตร สลับกับพื้นที่ราบ โดยภูเขาส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูน ในแถบตะวันออกและตะวันตกของพื้นที่จะยกตัวสูงขึ้นเป็นแนวโดยเฉพาะบริเวณใกล้น้ำตกเอราวัณจะมีลักษณะเป็นหน้าผา ส่วนบริเวณตอนกลางจะเป็นแนวเขาทอดยาวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยเทือกเขาที่สำคัญคือ เขาหนองพุก เขาปลายดินสอ เขาหมอเฒ่า เขาช่องปูน เขาพุรางริน และเขาเกราะแกระซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดประมาณ 996 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่สำคัญหลายสาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในพื้นที่ด้านตะวันออกนี้จะมีลำห้วยที่สำคัญคือ ห้วยม่องไล่ และห้วยอมตะลา ซึ่งไหลมาบรรจบกันกลายมาเป็นน้ำตกเอราวัณ ทางตอนเหนือของพื้นที่มีห้วยสะแดะและห้วยหนองกบ โดยห้วยสะแดะจะระบายน้ำลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ ส่วนห้วยหนองกบไหลไปรวมกับห้วยไทรโยคก่อให้เกิดน้ำตกไทรโยค ส่วนในพื้นที่ด้านตะวันตก และด้านใต้ ได้แก่ ห้วยทับศิลา ห้วยเขาพังซึ่งเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่สวยงามที่เรียกว่า “น้ำตกเขาพัง” หรือน้ำตกไทรโยคน้อย


ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติเอราวัณแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม และฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุทยานแห่งชาติเอราวัณได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือช่วยพัดพาให้เกิดฝน แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตเงาฝน ทำให้มีปริมาณฝนตกไม่มากนัก และอากาศค่อนข้างร้อน ลักษณะอากาศดังกล่าวจึงไม่เป็นปัญหาต่อการเที่ยวชม ทำให้สามารถไปเที่ยวได้ทุกฤดู

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ประกอบด้วย
ป่าเบญจพรรณ มีร้อยละ 81.05 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ขึ้นปกคลุมตั้งแต่ระดับความสูง 100 - 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะค่าโมง ตะเคียนหนู รกฟ้า ผ่าเสี้ยน ประดู่ ส้มเสี้ยว แต้ว มะกอก ตะแบก ขานาง มะเกลือ หว้า ฯลฯ มีไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปหรือบางแห่งขึ้นเป็นกลุ่ม ได้แก่ ไผ่ป่า ไผ่รวก ไผ่ซางนวล และไผ่หอบ นอกจากนี้ยังมีพวกไม้เลื้อยและพืชพื้นล่าง ได้แก่ เสี้ยวเครือ นมแมว เล็บเหยี่ยว หนามคนทา ช้องแมว มะเม่าไข่ปลา ย่านลิเภา เปล้าหลวง กระทือ สังกรณี และเอื้องหมายนา เป็นต้น

ป่าเต็งรัง มีร้อยละ 1.68 กระจายอยู่ในระดับความสูง 100 - 800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทุ่งยายหอม หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ อว.8 (ลำต้น) และบริเวณใกล้เขื่อนทุ่งนา พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง แดง ก่อแพะ มะขามป้อม อ้อยช้าง ยอป่า กรวยป่า โมกหลวง ก้างขี้มอด ส้าน เหมือดคน ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าขน หญ้าหางเสือ เล็บแมว เถาว์กระทงลาย เป้ง ลูกใต้ใบ ผักหวาน ผักเป็ด พลับพลา และปอ เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง มีร้อยละ 14.35 อยู่บนสันเขาทอดเป็นแนวยาวตรงใจกลางของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และอยู่ต่ำถัดลงมาในระดับความสูงระหว่าง 600-800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และอยู่ในบริเวณที่ชุ่มชื้นตามที่ราบริมห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางโอน มะพลับดง ยมหิน ตะเคียนทอง สำโรง ตะคร้ำ สัตบรรณ เฉียงพร้านางแอ มะดูก พลองใบเล็ก ข่อยหนาม ชมพู่น้ำ ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หวายขม เถากระไดลิง เข็มขาว มะลิไส้ไก่ ว่านเศรษฐี ตำแยกวาง เถาอบเชย ไผ่หนาม และเนียมฤาษี

จากการสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ สัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก และสัตว์น้ำอื่นๆ รวมทั้งปลานานาชนิด ที่สำคัญและมักจะพบเห็น ได้แก่ ช้างป่า หมีควาย เลียงผา อีเก้ง กวางป่า หมูป่า ชะนีธรรมดา ค่างแว่นถิ่นเหนือ ลิงกัง ลิงลม แมวดาว อีเห็นธรรมดา กระแต เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ไก่ฟ้าหลังเทา ไก่ป่า นกกวัก นกเด้าดิน นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกหัวขวานด่างแคระ นกปรอดสวน นกจาบดินอกลาย งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูหลาม งูเห่าตะลาน กิ้งก่าหัวสีฟ้า จิ้งเหลนบ้าน ตะพาบน้ำ คางคกบ้าน เขียดจะนา อึ่งกราย กบป่าไผ่ใหญ่ ปาดบิน ปลากั้ง ปลาเวียน ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาตะเพียนขาว ปลากระสูบจุด ปูน้ำตก ปูตะนาวศรี ปูกาญจนบุรี เป็นต้น


การเดินทาง
รถยนต์
- รถยนต์ส่วนบุคคล ไปตามถนนเพชรเกษมหรือไปตามถนนบรมราชชนนี ผ่านนครชัยศรี บ้านโป่ง ท่ามะกา ท่าม่วง ถึงจังหวัดกาญจนบุรี รวมระยะทาง 129 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง สำหรับการเดินทางจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปยังอุทยานแห่งชาติเอราวัณสามารถใช้ได้ 2 เส้นทาง คือ สายที่ 1 เริ่มต้นจากจังหวัดกาญจนบุรีไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3199 ถึงเขตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนศรีนครินทร์ ข้ามสะพานไปยังตลาดเขื่อนศรีนครินทร์ แล้วจึงเลยเข้าไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 70 กิโลเมตร สายที่ 2 เดินทางจากอุทยานแห่งชาติไทรโยค จะมีเส้นทางบริเวณบ้านวังใหญ่อยู่ห่างจากน้ำตกไทรโยคน้อยประมาณ 6 กิโลเมตร ลัดออกไปบ้านโป่งปัดบริเวณเขื่อนท่าทุ่งนาระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 3199 อีกประมาณ 25 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเอราวัณ


รถไฟ
รถไฟ ออกจากสถานีรถไฟบางกอกน้อยวันละ 2 เที่ยว ได้แก่ เวลา 07.50 น. และ 13.45 น. โดยแวะจอดที่สถานีกาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว ท่ากิเลน สถานีน้ำตก ในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ มีรถไฟเที่ยวพิเศษ นำเที่ยวไปกลับภายในวันเดียว ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ สถานีรถไฟกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1285


รถโดยสารประจำทาง
รถโดยสารธรรมดา/รถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ทุก 15 นาที ตั้งแต่เวลา 04.00-20.30 น. ถึงจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้นเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งกาญจนบุรี หมายเลข 8170 กาญจนบุรี-เอราวัณ ทุก 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.20 น. เพื่อเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที รวมระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร หรือออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ชั้น 1 ช่อง 21 สายกรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งแต่เวลา 05.00-19.00 น. โดยแวะจอดที่สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้นเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสายกาญจนบุรี-เอราวัณ เพื่อเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ


แผนที่เส้นทาง




เส้นทางไปอุทยานแห่งชาติเอราวัณ

ภาพทิวทัศน์


ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน



น้ำตกเอราวัณ ชั้นที่ 1 (ไหลคืนรัง)



น้ำตกเอราวัณ ชั้นที่ 2 (วังมัจฉา)



น้ำตกเอราวัณ ชั้นที่ 3 (ผาน้ำตก)



น้ำตกเอราวัณ ชั้นที่ 4 (อกนางผีเสื้อ)



น้ำตกเอราวัณ ชั้นที่ 5 (เบื่อไม่ลง)



น้ำตกเอราวัณ ชั้นที่ 6 (ดงพฤกษา)



น้ำตกเอราวัณ ชั้นที่ 7 (ภูผาเอราวัณ)



จุดชมวิวระหว่างทางขึ้นน้ำตก



บริเวณลานกางเต็นท์หน้าที่ทำการของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติถ้ำพระธาตุ



ขี่จักรยานเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าดิบแล้งม่องไล่



บริเวณลานกางเต็นท์



อาคารศูนย์บริการลานกางเต็นท์นักท่องเที่ยว



อาคารสัมมนา



ดูหมูป่าบริเวณลานกางเต็นท์



ถ้ำพระธาตุ

แผนที่ผังบริเวณ



ผังบริเวณแสดงสิ่งปลูกสร้าง(ผังรวม) อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์
ร้านอาหาร - ร้านอาหาร
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 101 (มังตาล)
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 202/2
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 202/3
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 202/4
ที่พัก - เอราวัณ 931 (ค่ายเยาวชนหญิง)
ที่พัก - เอราวัณ 932 (ค่ายเยาวชนชาย)
ที่พัก - สถานที่กางเต็นท์
ที่พัก - เอราวัณ 101
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 202/1
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 201/4
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 102 (หลังแฝด)
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 103 (เอราวัณ)
ที่พัก - เอราวัณ 102
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 105 (ริมแคว)
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 106 (สะแกดง)
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 107 (หิรัญญิการ์)
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 201/1
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 201/2
ที่พัก - บ้านเอราวัณ 201/3
ห้องประชุมสัมมนา - เอราวัณ 031 ห้องประชุม 2
ลานจอดรถ - ลานจอดรถ
โทรศัพท์สาธารณะ - โทรศัพท์ TOT (บริเวณที่ทำการ)
โทรศัพท์สาธารณะ - โทรศัพท์ TOT (บริเวณลานจอดรถ)

สถานที่ท่องเที่ยว
ถ้ำพระธาตุ
น้ำตกเอราวัณ
ถ้ำตาด้วง
ถ้ำวังบาดาล
ถ้ำหมี
ถ้ำเรือ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดิบแล้งม่องไล่
เส้นทางศึกษาธรรมชาติเอราวัณ (ป่าไผ่)
เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหินล้านปี

วิดีโอ


อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว


น้ำหนาว (Nam Nao)




ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
อ. น้ำหนาว จ. เพชรบูรณ์ 67260
โทรศัพท์ : 0 5681 0724 (VoIP), 08 1962 6236 โทรสาร : 08 1888 4107

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายคมกริช เศรษบุบผา

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวอยู่ในท้องที่อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ หรือ 966 ตารางกิโลเมตร

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2511 กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่บริเวณป่าน้ำหนาว ปรากฏว่า มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2513 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2513 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 142 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2515 กำหนดบริเวณป่าน้ำหนาวในท้องที่ตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ตำบลบ้านกลาง ตำบลบ้านติ้ว ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก ตำบลน้ำหนาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 71 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2515 เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 5 ของประเทศ

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีหนังสือที่ กส 0708/2214 ลงวันที่ 1 เมษายน 2523 ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้ตรวจสอบพิจารณาชื่อตำบลที่ตกหล่นในอุทยานแห่งชาติที่รับผิดชอบ ซึ่งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้มีหนังสือที่ กส 0708(นน)/223 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2525 รายงานว่า ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 142 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2515 ได้กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงท้องที่ตำบลปากช่อง และตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย แต่มิได้ระบุชื่อตำบลทั้ง 2 ไว้

กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2523 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดขยายเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมตำบลที่ตกหล่นได้ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในท้องที่ตำบลท่าอิบุญ และตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2525 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 137 ลงวันที่ 26 กันยายน 2525

ขนาดพื้นที่
603750.00 ไร่

ภาพแผนที่



ลักษณะภูมิประเทศ 
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตกั้นระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวผ่านจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นเนินยอดป้านที่เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกบริเวณนี้ในอดีต มีความสูงอยู่ระหว่าง 650-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วย ภูผาจิต ภูกุ่มข้าว โดยภูด่านอีป้องเป็นจุดสูงสุด มีความสูง 1,271 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบขึ้นเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของลำธารสายยาว เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำเชิญ ซึ่งไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์

ลักษณะภูมิอากาศ
โดยทั่วไปอากาศหนาวเย็นในตอนดึกและตอนเช้า ส่วนใหญ่ตอนกลางวันอากาศเย็นสบาย จึงกล่าวได้ว่า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนใหญ่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก จนบางครั้งน้ำค้างจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งในบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำถึง 0 องศาเซลเซียส

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
ป่าน้ำหนาวเป็นป่าไม้ผืนใหญ่ติดต่อกัน ประกอบด้วยป่าหลายชนิดประกอบด้วย
ป่าดิบชื้น พบบริเวณหุบเขาและริมลำห้วย ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง ตะเคียนทอง มะหาด ยมหอม ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นหวาย และปาล์ม เป็นต้น

ป่าดิบเขา เป็นป่าส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติพบขึ้นบริเวณยอดเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่ขึ้นบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นก่อสกุลต่างๆ เช่น ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมูน้อย ก่อตาหมูหลวง เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นตามไหล่เขาต่อจากป่าดงดิบทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ และกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ทางด้านตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก งิ้วป่า ยอป่า ชิงชัน ซ้อ เป็นต้น

ป่าสนเขา พบในที่ประมาณ 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะเป็นป่าโปร่งมีสนสามใบ และส่วนใหญ่จะขึ้นปะปนอยู่กับป่าเต็งรัง พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา พบทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติบริเวณสวนสนภูกุ่มข้าว ดงแปก และที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

ป่าเต็งรัง เป็นป่าโปร่งขึ้นอยู่บริเวณที่แห้งแล้ง ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ หน้าดินตื้น เป็นกรวดหรือลูกรัง ทำให้ต้นไม้แคระแกร็น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง เหียง กราด รกฟ้า ฯลฯ พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าเพ็ก พบบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติทั้งสองข้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 และทุ่งหญ้า ประกอบไปด้วยหญ้าคา หญ้าเพ็ก มีพันธุ์ไม้ใหญ่ปะปนอยู่บ้าง เช่น ติ้ว กระโดน และแต้ว เป็นต้น

เนื่องจากป่าส่วนหนึ่งเป็นป่าโปร่งสลับกับทุ่งหญ้าและป่าดิบ มีดินโปร่งและน้ำไหลผ่านตลอดปี จึงทำให้ป่านี้มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง เสือโคร่ง เสือดาว ค่าง หมีควาย หมีคน เลียงผา หมาป่า กระจง เม่น หมูป่า กระต่ายป่า ค้างคาวมงกุฎหูโตมาร์แชล ค้างคาวไอ้แหว่งน้อย เต่าปูลู และเต่าเดือย สำหรับช้างป่านั้นมีอยู่ทั่วไป ซึ่งเราจะเห็นกองมูลช้างที่ถ่ายไว้ริมทางหลวงอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีนกชนิดต่างๆ มากว่า 200 ชนิด ตามทางเดินในป่าจะพบนกสีสวยๆ อยู่เสมอ เช่น นกแก้ว นกขุนแผน นกหก นกพญาปากกว้าง นกเดินดง นกแต้วแร้ว นกโพระดก นกหัวขวาน นกเหงือก นกกระจ้อย นกกินแมลงชนิดต่างๆ ไก่ฟ้าพญาลอ และไก่ป่า เป็นต้น และยังมีความหลากหลายของผีเสื้อมากกว่า 340 ชนิด

การเดินทาง
รถยนต์
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 103 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 55 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 50 มีป้ายชี้ทางเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (ไปจากหล่มสักป้ายจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ไปจากข่อนแก่นป้ายจะอยู่ทางด้านขวามือ) จากถนนใหญ่เดินทางต่อทางประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ท่านสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดแหล่งท่องเที่ยว บ้านพัก เต็นท์ รับกุญแจบ้านพัก และอื่นๆ ได้ที่ศูนย์บริการฯ ถ้าไปโดยรถประจำทางสามารถขึ้นรถโดยสายจากขอนแก่นหรือหล่มสัก ซึ่งผ่านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุกวัน

แผนที่เส้นทา



เส้นทางไปอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว


ภาพทิวทัศน์










แผนที่ผังบริเวณ



ผังบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

วิดีโอ